http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,397,973
Page Views16,731,325
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฤาษีแห่งเลตองคุ7.ฤาษี ตำนานที่เป็นจริง

ฤาษีแห่งเลตองคุ7.ฤาษี ตำนานที่เป็นจริง

ฤาษีแห่งเลตองคุ7.

ฤาษี ตำนานที่เป็นจริง

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              ผมพาพี่น้องวนเวียนเพื่อให้รู้จักหมู่บ้านเลตองคุ โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน ผู้คนที่แตกต่างและคล้ายคลึง วัฒนธรรมการแต่งกายของกะเหรี่ยงเลตองคุ  แม้แต่อาชีพที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของกะเหรี่ยง ชนเผ่าที่ทำกินบนผืนดินในรูปแบบ ไร่หมุนเวียน และสวนผสม แต่ใครที่ติดตามอ่านก็คงอยากจะรู้ว่า ฤาษี มีจริงๆไหม ทำไมยังไม่เปิดตัวตนสักที เลี้ยงไข้อยู่ได้

              แต่ผู้อ่านของwww.thongthailand.com มารยาทเยี่ยมเลย เงียบ รออ่านอย่างสงบ จนผมรู้สึกว่า น่าจะต้องถึงตอนพระฤาษีเสียที ทั้งนี้ก็ด้วยว่าอยากให้รู้จักหมู่บ้านนี้อย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋ครับ

ฤาษีองค์ปัจจุบันต้องสละชีวิตอยู่เป็นโสดไปจนตาย

              เราทราบกันแล้วนะครับว่า พี่น้องกะหรี่ยงบ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง เป็นกะเหรี่ยงที่นับถือ "ลัทธิฤาษี" มีสำนักฤาษีเปรียบเสมือนวัดในพุทธศาสนา ถือปฏิบัติตามคำสอนของฤาษี อันประกอบด้วยบัญญัติ 10 ประการเป็นหลักชัย ดุจเดียวกับที่พุทธศาสนิกชนถือเอาพระไตรปิฎกเป็นสรณะ

บัญญัติ 10 ประการของลัทธิฤาษี

                ศาสดาของฤาษีไม่มีตัวตน การสืบทอดตำแหน่งของฤาษีเป็นนิมิตของฤาษีองค์ก่อนเป็นผู้กำหนดและจะบอกเมื่อถึงเวลาเหมาะสม  ฤาษีแห่งเลตองคุสืบทอดต่อๆกันมา 9-10 องค์ แต่ก็ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน เคยมีองค์ฤาษีพยายามที่จะส่งเยาวชนไปเรียนหนังสือไทยเพื่อจดบันทึกและสื่อสารกับคนไทยได้แต่กลับผิดหวังด้วยว่าถูกรังเกียจ จึงสาบานว่าจะไม่ส่งไปเรียนภาษาไทยอีก

               แต่ได้หันไปเรียนถึงพม่าๆปฏิเสธอีก จึงได้พระมอญรับสอนหนังสือให้ กะเหรี่ยง 3 คนนั้นจึงได้บวชเป็นสามเณรห่มเหลือง และเมื่อกลับไปยังเลตองคุก็ทำให้ฤาษีคิดจะห่มเหลืองตามไปด้วย แต่ว่า เมื่อไม่มีนิมิตก็เปลี่ยนไม่ได้ จึงนุ่งห่มด้วยชุดเชวาสีขาวขลิบสีชมพูตราบเท่าทุกวันนี้

 

อาศรมองค์ฤาษี

                ฤาษี ตรงกับภาษาบาลีว่า อิสิ แปลว่าผู้แสวงธรรม ซึ่งเป็นผู้นำจิตวิญญาณและความเชื่อ

                ฤาษี ในความหมายของคนไทยเข้าใจว่าเป็นนักบวชนอกศาสนาผู้ที่นิยมห่มเหลืองลายเสือชอบอยู่บำเพ็ญเพียรในป่าดงพงไพร

                ฤาษี ในพาราณสี ประเทศอินเดีย เป็นนักบวชที่ห่มผ้าอย่างชาวอินเดีย แต้มหน้าผากด้วยสีแดง ถือขันรับบริจาคจากผู้ใจบุญ ยืนให้ถ่ายรูปเพื่อแลกกับเศษเงินตอบแทนตามบันไดทางขึ้นท่าเรือแม่น้ำคงคา บำเพ็ญเพียรด้วยการนั่งสมาธิ ฯลฯ

 

จุดไหว้ที่2.

                ตำนานฤาษีแห่งเลตองคุ เป็นเพียงการเล่าขานสืบต่อกันมา จึงอาจไม่ชัดเจนและสับสน อ่านเพื่อรู้มิได้ทำการศึกษาพฤติกรรมความเชื่อของลัทธิฤาษี ก็ขอให้ทำใจสักนิดนะครับ เรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาคือ กะเหรี่ยงแห่งเลตองคุเรียกฤาษีด้วยคำนำหน้าว่า พืออิสิ............ตามด้วยชื่อของท่าน 

 

จุดไหว้ที่1

               เรียงลำดับตามที่ค้นหาได้คือ ฤาษีองค์ที่ 1. พืออิสิ กว่อแว ถูกพม่าฆ่าตาย องค์ที่2. พืออิสิโจ่วยุ องค์นี้ต่อสู้กับพม่าจนในที่สุดกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตายประท้วงผู้รุกราน  องค์ที่ 3. พืออิสิ แจเบอะ  องค์ที่4. พืออิสิ เสาะเจี้ยะ 

 

เครื่องเซ่นไหว้

               องค์ที่5. พืออิสิ แจะแป๊ะ องค์นี้ที่เคยส่งลูกศิษย์ไปเรียนภาษาไทยแล้วถูกรังเกียจจึงส่งไปพม่า แต่ได้เรียนกับพระมอญ เพื่อให้กลับมาจดบันทึกเรื่องราว องค์ที่ 6.พืออิสิ เจ๊ะเคาะ ตามรูปร่างของท่านที่ขาเป๋ องค์นี้มีช้างแสนรู้อยู่ที่สำนัก เมื่อตายลงจึงได้ส่งงาช้างไปแกะสลักรูปพระพุทธรูปทั้งงา

 

สะพานสวรรค์

               องค์ที่ 7. พืออิสิ เสาะเทีย นิมิตว่าชุดเสื้อผ้าที่พวกเราชาวกะหรี่ยงสวมใส่กันอยู่นี้ไม่ใช่ของเรา เขาจะมาเอาคืน จึงห้ามใส่เสื้อที่ถักทอเป็นตาตารางเหมือนทุ่งนา ได้สวมใส่ชุดขาวเชวาเหมือนปัจจุบันนี้

               องค์ที่ 8. พืออิสิ แจะยะ ซึ่งมาจากบ้านหม่องกั๊วะแต่เด็กโดยได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ของพืออิสิ เสาะเทีย ก่อนตายได้สั่งว่า แจะยะ จะสืบทอดต่อ สมัยแจะยะมีคนล้มตายมาก จึงขอสึกไปมีเมียและลูก

               องค์ที่ 9. พืออิสิ มอแน่(มุเจ) สมัยนี้ได้นิมิตให้ทุกคนกินมังสวิรัติ(กินเจ) ทุกวันนี้มีชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุกินมังสวิรัติ 140 หลังคาเรือน ไม่กินมังสวิรัติ 40 ครอบครัว

               ตำนานพืออิสิของลัทธิฤาษีสับสน มีชื่อพืออิสิอีก 2 รายที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน พืออิสิเลอช่วย  พืออิสิ เผอแตะ ดังนั้นตำนานก็คือตำนาน มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเล่าขานกันมา อาจผิดถูกได้ทั้งสองอย่าง

 

ศาลางาช้างแกะสลักรูปพระพุทธเจ้าทั้งงา

               ประเพณีที่ลัทธิฤาษีถือปฏิบัติก็มีมากมายหลายประการ อาทิเช่น ประเพณีสรงน้ำองค์ฤาษีในวันสงกรานต์ วันนั้น พี่น้องชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุได้แต่งตัวงดงามตามวัฒนธรรมของชนเผ่า อุ้มลูกจูงหลานเดินกันไปที่สำนักฤาษี เครื่องบูชาก็มีจำพวกอาหารมังสวิรัติ ขนมหวานใส่สีสวยงาม เด็กๆผู้หญิงจะเทินหัวเพื่อไปถวายให้องค์ฤาษีและสามเณร

 

เครื่องเซ่นบนศาลางาช้าง

                 ฤาษีจะนุ่งห่มด้วยชุดเชวาสีขาวขลิบชมพู คาบไปป์สูบบุหรี่ตลอดเวลา นั่งอยู่บนสำนักนิ่งสงบ มองสาวกไปทั่วๆ สามเณรนั่งหลบๆอยู่ในสำนัก สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวก็มี ไม่สวมเสื้อเลยก็มี แต่ขมวดมวยผมไว้บนกระหม่อมด้านหน้าเรียบร้อย สวมโสร่งสีพื้นๆตามชอบ

 

องค์ฤาษีและมรรคนายก นั่งกินหมากกันเพลิน

                  ต่ำลงมาอีกนิดเป็นสาวกใกล้ชิด เหมือนมรรคนายกของวัดพุทธ ผู้ใหญ่บ้านนั่งรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ถือเป็นสภาผู้แทนของสำนักเช่นนั้น แต่ละคนมีหมากให้กินกันไม่ขาดปาก กลุ่มมรรคนายกจะมีอยู่ราวๆ 10-15 คน

 

สาวกในศาลาโรงทาน คณุต.ช.ด.และบก.เสียงตาก

                  ถัดลงมาเป็นสาวกอีกระดับหนึ่ง ทุกคนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น มีร่องกั้นระหว่างสาวกชายและสาวกหญิง เหล่าหญิงสาวทั้งแม่บ้านแม่เรือน และเด็กสาวเด็กหนุ่ม นั่งปะปนกันด้วยท่าทีสงบ เรียบร้อย เหมือนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าของเขา

 

                  ตรงกลางศาลาโรงทาน มีโต๊ะกลมวางอาหารหวานคาวไว้ให้ทุกคนนำมาถวายและตักกินได้ตลอดเวลา เป็นทานอย่างหนึ่งที่ร่วมใจกันสร้างให้เป็นกติกาของชุมชน รอบนอกหนุ่มสาวนั่งกันบ้างยืนกันบ้าง

                   เหล่ามรรคนายกได้นำทำพิธีไหว้ 7 สถานศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกอบด้วยศาลางาช้างซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีทำบุญและสวดมนต์  

                   จุดไหว้ที่ 1. สัญลักษณ์ของการเกิด  เป็นจุดที่ปักไม้ไผ่ลำเล็กๆไว้โดยมีหินล้อมรอบ

 กล่มฤาษีหนุ่ม ไม่สวมเสื้อ

                   จุดไหว้ที่ 2. เรือนบริสุทธิ์ อันเป็นที่นอนขององค์ฤาษีตอนกลางคืน โดยก่อนนอนจะหวีผมเรียบร้อยพร้อมกับล้างหน้าล้างเท้าก่อนเข้าเรือน มีลูกศิษย์นอนอยู่ด้วย4-5 คน กลางเรือนมีกองไฟก่อไว้ตลอดเวลาไม่มีการปล่อยให้ดับ

                    จุดไหว้ที่ 3. เสาไม้ติดแผ่นไม้สำแดงตัวตนแห่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

                     จุดไหว้ที่ 4. เป็นเสาไม้แทนพระรัตนตรัย

 

อาหารหวานคาวในโรงทาน

                     จุดไหว้ที่ 5. เรือนงาช้าง พระพุทธรูป ศูนย์รวมสำคัญของสำนักฤาษี

                     จุดไหว้ที่ 6. เป็นหีบเก็บพระไตรปิฎกกราบไหว้ขอพรและสิ่งที่ดีงาม

                     จุดไหว้ที่ 7. เป็นประตูเทวดา ทำด้วยไม้ท่อน 2 ท่อนวางเรียงกัน แต่ไม่ติดกัน เพื่อให้ดักคนเลวลงนรกไป ณ จุดนี้ถือว่าเป็นสะพานเชื่อมต่อที่เทวดาจะมารับคนดีสู่สวรรค์

                     ก่อนเข้าเขตสำนักฤาษีต้องถอดรองเท้าออก ล้างเท้าแล้วเดินเข้าไปตามร่มศาลาทางเดิน ได้ผ่านเรือนบริสุทธิ์อันเป็นที่พักของฤาษีตอนกลางคืนเรือนเก็บอุปกรณ์ของการเกษตรกรรมและอุปกรณ์ของช้างของสำนัก ระหว่างปากทางเข้าเขตสำนักจะมีทางเดินมุงหลังคา ราดปูนซีเมนต์ไปจนถึงศาลาหน้าอาศรมฤาษี

 

กล้วยคือผลไม้หลักที่นิยมนำมาถวาย

                    เมื่อถึงเวลาสรงน้ำองค์ฤาษี ๆจะเดินไปที่ส่วนปลายของท่อไม้ไผ่ รองน้ำที่หยาดมาจากต้นรางไม้ไผ่ด้วยน้ำสะอาดของสาวก ถือเป็นการสรงน้ำองค์ฤาษีในวันสงกรานต์ หลังจากนั้นชาวกะเหรี่ยงฤาษีก็จะรดน้ำดำหัวขอพรกันตามธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นที่สนุกสนาน

 

สาวน้อยเทินหม้อขนมไปถวายฤาษี

                    ส่วนงานบุญตามประเพณีอื่นๆก็เช่นบุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา  บุญบูชาไฟเพื่อรำลึกถึง พืออิสิ โจ่วยุ ผู้กระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตายประท้วงพม่า ในชุมชนคนกะเหรี่ยงลัทธิฤาษีเหล่านี้ ส่วนวัฒนธรรมประเพณีการสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญไร่สวน และเรือนที่อยู่อาสัยนั้นไม่มีโอกาสได้เห็น จึงไม่มีเรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่าน

 

สรงน้ำองค์ฤาษี

                 เช่นเดียวกับวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงาน การคลอดลูก  การทำบุญบ้าน การแสดงความเคารพผู้ตาย หากมีโอกาสคงได้นำมาเล่ากันอ่านต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าจะได้เดินทางเข้าไปที่เลตองคุอีกไหม กะเหรี่ยงที่อื่นๆจะเหมือนกันไหม แต่ที่แน่นอนเลย ตั้งแต่เข้าไปในหมู่บ้านเลตองคุไม่เห็นสัตว์เลี้ยงใดๆเลย มีแต่หมา

 

                 ไม่ได้เห็นเป็ดไก่หมู เลี้ยงหรือปล่อยใดๆ อันน่าจะเป็นผลพวงมาจากบัญญัติข้อที่1. แต่น่าแปลกที่อนุญาตให้กินสัตว์เหล่านี้จากป่าดงพงไพรได้ ตื่นขึ้นมาฟ้าแจ้งจางปางจึงไม่มีเสียงไก่ป่าหรือไก่บ้านขานขันแต่อย่างใดเลย อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ได้รับอนุญาตให้กินได้ก็เป็นปลาไม่มีเกล็ด เช่นปลาดุก ปลาเทโพ ปลาสวาย ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านไม่มีร่องรอยการใช้อุปกรณ์ดักเช่นลอบหรือตาข่าย

 

กะเหรี่ยงเลตองคุสาวกกำลังเดินมาสำนักฤาษี

                  แม้แต่นก หนู ไน่ กระรอก กระแต เก้ง กวาง ฯลฯ ก็ไม่ได้พบเห็นเลย เป็นป่าดงพงไพรพิสดารที่ปราศจากสรรพชีวิต มีแต่ต้นหมาก ต้นมะพร้าว มะไฟ มะปริงต้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกหากนำเนื้อสัตว์เข้าไปในหมู่บ้านก็ไม่ได้ ต้องแยกไปกินกันที่โรงเรียนแค่นั้น เป็นกติกาที่ชนกะเหรี่ยงเชื่อมั่นตามลัทธิบัญญัติ “เคร่ง”  อ้อ ฤาษีแห่งเลตองคุทำมาหาหกินเหมือนสาวกทุกคนเช่น ทำนา ปลูกผัก ผลไม้ ไว้รับประทานเอง ไม่ได้รอแต่การตักบาตรอย่างพระสงฆ์ 

หนุ่มๆเข้าสำนักฤาษีต้องใส่ชุดเชวาสีขาว

หญิงสาวและแต่งงานแล้วเข้าเฝ้าในอาศรม

โรงเรือนอุปกรณ์การเกษตรและช้าง

เหล่าฤาษีหนุ่มแห่งบ้านเลตองคุ

พิธีกรรมไหว้จุดต่างๆ

                                     

 

Tags : ฤาษีแห่งเลตองคุ6. ไร่หมุนเวียน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view